ต่อไปลาซาด้าจะเป็นอย่างไร จะมีโปรโมทชั่นและตอบโจทย์คนไทยมากขึ้นหรือไม่ สามารถติดตามแนวคิดของดร. วีระพงศ์ โก
Lazada Thailand มี CEO คนไทยคนแรกคือ ดร. วีระพงศ์ โก
ดร. วีระพงศ์ โก CEO คนไทยคนแรกของ ลาซาด้า ประเทศไทย
ลาซาด้าไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรในเวลานี้ แต่มุ่งหวังทำธุรกิจเพื่อเติบโตบนแพลตฟอร์มและให้คนนึกถึงดิจิทัลอีโคโนมีในประเทศไทยจะนึกถึงลาซาด้าเป็นรายแรก
ดร. วีระพงศ์ โก CEO คนไทยคนแรกของลาซาด้าประเทศไทย บอกกับเราในงานพบปะสื่อครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง CEO ลาซาด้าประเทศไทย ในเดือนกรกฎาคม 2565
เป้าหมายของ ดร. วีระพงศ์ คือนำลาซาด้าสู่การเป็นดิจิทัลอีโคโนมีในประเทศไทย ในวันนี้เริ่มจากการสร้างอีโคซิสเต็มในแพลตฟอร์มให้เติบโตในทุก ๆ ด้าน ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
สำหรับด้านผู้ซื้อ ในปัจจุบันลาซาด้ามีลูกค้าที่แอ็กทีฟในระบบ 30 ล้านรายต่อเดือน และ CEO คนใหม่วางเป้าหมายว่าจะผลักดันให้ลาซาด้ามีผู้ซื้อแอ็กทีฟในแพลตฟอร์ม 45 ล้านรายต่อเดือนในอนาคต
ไปพร้อม ๆ กับสร้างความถี่ในการเข้าซื้อและ Basket Size ที่เพิ่มขึ้น
เพราะในวันนี้ลูกค้าลาซาด้ามากกว่า 76% ซื้อออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่จะไม่ซื้อของมีมูลค่าที่สูง
โดยลูกค้าลาซาด้าจะซื้อสินค้าเฉลี่ยพันบาทต่อเดือน ส่วนกลุ่ม Loyal จะมีการซื้อสินค้าเฉลี่ย 2,000-3,000 บาทต่อออเดอร์
การไปถึงเป้าหมายที่วางไว้สำหรับ ดร.วีระพงศ์ มองว่าประสบการณ์ในการซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มลาซาด้าเป็นสิ่งที่สำคัญส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตแบบยั่งยืนได้
“ลาซาด้าต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ไม่มุ่งมั่นที่คู่แข่ง ว่าคู่แข่งทำอะไร แต่มองไปที่ลูกค้า ดูความต้องการของลูกค้า ลงทุนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และผลกำไรที่ได้ในวันนี้จะนำไปใช้ในการลงทุนให้แพลตฟอร์มเกิดการเติบโต ไปพร้อม ๆ กับมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการซื้อสินค้าผ่านลาซาด้า”
นอกจากผลกำไรที่เปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นการลงทุนแล้ว ดร. วีรพงศ์บอกว่าในตลาดสองปีที่ผ่านมา ลาซาด้ามีการลงทุนอย่างระมัดระวัง แต่ยังเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่องผ่านการวิเคราะห์ในหลากหลายด้าน เพื่อการลงทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มลาซาด้า โดยเฉพาะในเรื่องโลจิสติกส์ โปรดักต์ และเพย์เมนต์
– โลจิสติกส์ ขนส่งที่รวดเร็ว โดยในปัจจุบันลาซาด้ามี Lazada Express ระบบขนส่งของตัวเอง และจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ได้แก่แฟลชและเคอรี่ เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งสินค้าถึงมือลูกค้า ให้สามารถรับสินค้าได้ภายใน 1-2 วันสำหรับลูกค้าในกรุงเทพฯ และ 2.7 วันสำหรับลูกค้าต่างจังหวัด
– โปรดักต์ ด้วยการนำระบบหลังบ้านมาใช้ในการวิเคราะห์ลูกค้า จากการมองเห็นลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะราคาถูก แต่ซื้อเพราะต้องการมองหาสิ่งใหม่ ๆ อย่างเช่นสินค้าแฟชั่น เป็นต้น
รวมถึงการนำระบบมาช่วยป้องกัน Scam Seller เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าตรงกับความต้องการมากที่สุด
– และสุดท้ายคือระบบเพย์เมนต์
ภายใต้การบริการของ CEO คนใหม่ยังมาพร้อมกับการพัฒนาแคมเปญโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ และลูกค้าเก่าเข้ามาในแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
เช่น แคมเปญในวันดับเบิลเดย์ เป็นแคมเปญที่สามารถดึงลูกค้าใหม่เข้ามาซื้อสินค้ามากขึ้น ที่ผ่านมาแคมเปญดับเบิลเดย์มียอดการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าใหม่เฉลี่ย 10%
และบางแคมเปญโปรโมชั่นยังเป็นแคมเปญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าใน Basket Size ให้สูงขึ้น เช่น แคมเปญ ลาซาด้าโบนัส ที่ให้ส่วนลดเพิ่มเมื่อซื้อสินค้าในมูลค่าที่กำหนดจากร้านที่ร่วมรายการ
นอกจากนี้ สำหรับความท้าทายของลาซาด้าอีกประการหนึ่งคือลูกค้ายังคงซื้อสินค้าในมูลค่าที่ไม่สูงมากนัก ดร. วีระพงศ์มองว่าส่วนหนึ่งมาจากความไม่เชื่อมั่นของลูกค้าในสินค้าที่เห็นอยู่ในรูปและต้องการจับต้องสินค้าก่อนซื้อจริง
และเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลาซาด้าจัดกิจกรรม O2O ร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นงาน Expo ขายสินค้ามูลค่าสูง เช่น งาน คอมมาร์ท และโมบายเอ็กซ์โป เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกดูสินค้าภายในงาน ก่อนที่จะสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า และรับสินค้าในงานได้ทันที เป็นต้น
เพราะยิ่งมียอดจำหน่ายที่สูงในแพลตฟอร์มมากขึ้นเมื่อไร รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลาซาด้าเรียกเก็บกับร้านค้าจะมีมากขึ้นตามมา
ไปพร้อมกับปรับภาพลักษณ์แบรนด์ลาซาด้าจากเดิมเน้นแคมเปญสินค้าลดราคา เป็นภาพลักษณ์ช้อปในสิ่งที่ใช้ เพื่อให้แบรนด์ลาซาด้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้บริโภคมากขึ้น
“การดึงลูกค้าเข้ามาไม่ใช่ราคา แต่ลูกค้าอยากได้สินค้าเร็ว ค่าส่งถูก เพราะลูกค้าไม่ต้องการสินค้าที่ลดราคามาก ๆ แต่ต้องการสินค้าที่ถูกต้องและตอบโจทย์ความต้องการ”
สำหรับในมุมของผู้ขาย ดร. วีระพงศ์ยังคงให้ความสำคัญกับร้านค้ารายใหญ่ในส่วนของ LazMall และร้านค้าที่เป็น SME
ในปัจจุบันลาซาด้ามีร้านค้าในแพลตฟอร์มมากกว่า 5 แสนร้าน และเป็นร้านที่มียอดขายแอ็กทีฟในแต่ละเดือนมากถึง 1.5 แสนราย
ในส่วนของร้านค้าที่เป็น SME ดร. วีรพงศ์มีโครงการ Cross Border นำสินค้าจากร้านค้าไทยไปขายในเครือข่ายลาซาด้าในต่างประเทศ โดยที่ร้านค้าโพสต์สินค้าผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้าที่เดียว
เพื่อเปิดโลกให้ร้านค้า SME ขยายกลุ่มลูกค้าจากผู้ซื้อในไทย 70 กว่าล้านคน เป็นผู้ซื้อกว่า 300 ล้านคนผ่านแพลตฟอร์ม
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาจากการมองเห็นออนไลน์รีเทลในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จาก Penetration ที่มีเพียง 12-15% เมื่อเทียบกับค้าปลีกทั้งหมด
เทียบกับจีนที่ออนไลน์รีเทลมี Penetration ถึง 42-46% ส่วนอเมริกามี Penetration ประมาณปลาย 30%-ต้น 40%
ซึ่งออนไลน์รีเทลในประเทศไทยสามารถเติบโตไปถึงจุดนั้นได้ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน
ดร. วีระพงศ์ โก ผู้ผลักดัน LazMall ให้เติบโต
เมื่อสามปีกว่าที่ผ่านมา ดร. วีระพงศ์เข้าร่วมงานกับลาซาด้า และงานแรก ๆ ของเขาในลาซาด้าคือ Project Lazmall ดึงผู้ขายรายใหญ่ให้เข้ามาเปิดร้านค้าในลาซาด้า
และเขาเป็นผู้ผลักดันให้จำนวนร้านค้า LazMall จากเดิม 300 ร้าน เป็น 1,200 ร้าน ภายในระยะเวลา 3-4 เดือน จากเดิมวางเป้าหมายไว้ 6 เดือน
ส่วนปัจจุบันลาซาด้ามีร้านค้าใน LazMall มากถึง 9,000 ร้าน
อ้างอิง : ไอเดีย1
สนใจต้องการเข้าร่วมกลุ่ม แนะนำไอเดียการหาเงิน >> >>คลิก